กรมทางหลวง
DEPARTMENT OF HIGHWAYS
ระบบทางหลวงที่สะดวกปลอดภัยเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร
สิทธิเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

การคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

      มาตรา 25 ภายใต้บังคับมาตรา 14 และมาตรา 15 บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน และเมื่อบุคคลนั้นมีคำขอเป็นหนังสือ หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นจะต้องให้บุคคลนั้นหรือผู้กระทำการแทนบุคคลนั้นได้ตรวจดูหรือได้รับสำเนาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลนั้น และให้นำมาตรา ๙ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

      ถ้าบุคคลใดเห็นว่าข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนส่วนใดไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริง ให้มีสิทธิยื่นคำขอเป็นหนังสือให้หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนนั้นได้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาคำขอดังกล่าว และแจ้งให้บุคคลนั้นทราบโดยไม่ชักช้า

      ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารให้ตรงตามที่มีคำขอ ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งไม่ยินยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสาร โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ และไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิร้องขอให้หน่วยงานของรัฐหมายเหตุคำขอของตนแนบไว้กับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องได้

      ให้บุคคลตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมีสิทธิดำเนินการตามมาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรานี้แทนผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือเจ้าของข้อมูลที่ถึงแก่กรรมแล้วก็ได้

การจัดเก็บข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

      หลักการเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

      1. กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการปฎิบัติงาน และให้ยกเลิกเมื่อหมดความจำเป็น

      2. ให้หน่วยงานของรัฐพยายามจัดเก็บข้อมูลข่าวสารบุคคลจากเจ้าของข้อมูลโดยตรง

      3. บังคับให้มีการประกาศรายการสำคัญหรือจำเป้นเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลข่าวสารส่วนลุคคล โดยการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาในรายการดังต่อไปนี้

          - ประเภทของบุคคลที่มีการเก็บข้อมูลไว้

          - ประเภทของข้อมูลข่าวสารส่วนบุลคล

          - ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ

          - วิธีการขอตรวจข้อมูลข่าวสารของเจ้าของข้อมูล

          - วิธีการขอให้เปลี่ยนแปลงแก้ไข้ข้อมูล

         - แหล่งที่มาของข้อมูล

      4. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดระบบรักษาความปลอดภัยและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอยู่เสมอ

ดาวน์โหลด ประกาศกรมทางหลวง เรื่อง การจัดการระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 190 ง วันที่ 9 สิงหาคม 2566

 

การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

        การนำข้อมูลไปใช้งานกฎหมาย กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบในกรณีที่จัดข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไปยังที่ใด ซึ่งจะเป็นผลให้บุคคลทั่วไปทราบข้อมูลข่าวสารนั้นได้ เว้นแต่เป็นไปตามลักษณะการใช้ข้อมูลปกติ   

        การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล  หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตนต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่นโดยปราศจาความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้นมิได้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดไว้ เช่น การเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของตนเพื่อการนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น เป็นการให้ซึ่งจำเป็นเพื่อการปกป้องหรือระงับอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของบุคคล เป็นต้น

การตรวจดูข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

        พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้ให้สิทธิแก่ประชาชนเจ้าของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลมีสิทธิขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของตนหรือเกี่ยวกับตนเองได้ และกำหนดว่า ถ้าพบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งหน่วยงานของรัฐจัดเก็บไว้ไม่ถูกต้อง ประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลย่อมมีสิทธิทำคำขอเป็นหนังสือให้หน่วยงานของรัฐแก้ไขข้อมูลข่าวสารดังกล่าวนั้นได้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้มีการนำข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาดไปใช้ให้เกิดผลร้ายแก่บุคคล และจะขอสำเนาข้อมูลข่าวสารนั้นก็ได้

        ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ยอมปฏิบัติตามคำขอให้แก้ไข ประชาชนเจ้าของข้อมูลอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ซึ่งถ้าคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้วินิจฉัยเช่นใด หน่วยงานของรัฐก็ต้องปฏิบัติตามนั้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการอุทธรณ์หรือไม่ หรือผลการพิจารณาอุทธรณ์จะเป็นเช่นใดก็ตาม เจ้าของข้อมูลมีสิทธิขอให้หน่วยงานของรัฐหมายเหตุคำขอของตนแนบไว้กับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนั้นก็ได้ ทั้งนี้ เมื่อแต่ละฝ่ายยืนยันว่าตนเป็นฝ่ายถูก การให้หมายเหตุไว้จึงเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะเตือนให้ผู้จะนำข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนั้นมาใช้ได้ตระหนักและใช้ดุลยพินิจโดยระมัดระวังว่า ที่ถูกต้องเป็นเช่นใดแน่

การแก้ไขข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

       บุคคลมีสิทธิยื่นคำขอเป็นหนังสือขอให้หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนเพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนที่เห็นว่าไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริงได้ (มาตรา 25 วรรคสาม)

       หากตรวจดูข้อมูลข่าวสารแล้วพบว่ามีข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในส่วนของตนเองส่วนหนึ่งส่วนใดที่ไม่ถูกต้องก็สามารถที่จะยื่นคำขอให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขได้ ถ้าหน่วยงานของรัฐไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารให้ตรงตามที่มีคำขอ ผู้ที่ยื่นคำขอก็มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งไม่ยินยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสาร

       กรณีที่เจ้าของข้อมูลเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นเจ้าของข้อมูลที่ถึงแก่กรรมแล้ว กฎหมายกำหนดให้บุคคลตามที่กฎกระทรวงกำหนดใช้สิทธิในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล การขอตรวจสอบและการขอให้มีการแก้ไขแทนได้ (มาตรา 25 วรรคห้า) เช่น ในกรณีที่มีผู้ถึงแก่กรรมและไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ให้บุคคลที่กฎหมายกำหนดตามลำดับต่อไปนี้ใช้สิทธิแทน

       (1) บุตรชอบด้วยกฎหมาย
       (2) คู่สมรส
       (3) บิดาหรือมารดา
       (4) ผู้สืบสันดาน
       (5) พี่น้องร่วมบิดา มารดา

 สิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ได้เสียของตน

     - ประชาชนมีสิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของตน โดยทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง

     - กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน ประชาชนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันได้รับคำสั่ง