กรมทางหลวง
DEPARTMENT OF HIGHWAYS
มุ่งพัฒนาและดูแลบริหารจัดการโครงข่ายทางหลวงที่สะดวก เชื่อมโยง เข้าถึง ปลอดภัย ตามมาตรฐานลำดับชั้นทางหลวง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคนทุกกลุ่ม

ระเบียบการเวนคืนที่ดิน

ลงวันที่ 17/10/2561

ระเบียบและขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน
การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

           การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คือการดำเนินการเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกิจการใด ๆ ตามความต้องการ
ของผู้ที่ต้องการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในการดำเนินการดังกล่าวจะดำเนินการภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย คือ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เป็นหลัก
           เมื่อกรมทางหลวงมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการใด ๆ อันจำเป็นเพื่อการอันเป็น
สาธารณูปโภคจะดำเนินการขอออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน(พ.ร.ฎ.) เป็นบริเวณกว้าง
ตลอดแนว เพื่อครอบคลุมพื้นที่ที่คาดว่าจะต้องเวนคืนเป็นเขตก่อสร้าง เนื่องจากว่าในขณะที่เสนอขอออก พ.ร.ฎ. นั้น กรมทางหลวงยังมิได้ดำเนินการออกแบบก่อสร้างจนถึงขั้นรายละเอียด จำเป็นต้องมีการปรับเขตพื้นที่และแบบก่อสร้าง
ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศและข้อเท็จจริงในสนามในระหว่างก่อสร้าง

           การประกาศ พ.ร.ฎ. เป็นบริเวณกว้าง ๆ นั้น กรมทางหลวงทราบดีว่าย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อนและกังวลใจ
แก่เจ้าของที่ดินอยู่บ้าง เพราะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการลงทุนสิ่งปลูกสร้างในเขต พ.ร.ฎ.ซึ่งเรื่องนี้เมื่อกรมทางหลวง
ได้กำหนดแนวเขตที่จะเวนคืนเป็นการแน่นอนแล้วก็พร้อมที่จะบริการชี้แนวเขตที่ถูกเวนคืนให้

           สำหรับการทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินในเขต พ.ร.ฎ. เช่น การซื้อขาย หรือการโอนเปลี่ยนแปลงสามารถกระทำได้
โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวง ส่วนการปลูกสร้างใด ๆ ในที่ดินควรตรวจสอบกับกรมทางหลวงก่อน

วิธีดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ดำเนินการได้ 3 วิธี  คือ

1. โดยวิธีจัดซื้อ
     1.1 จัดซื้อโดยวิธีปรองดองซื้อขายทรัพย์สินกับเจ้าของทรัพย์สินก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ฎ.
            การดำเนินการกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยหลักการแล้วจะดำเนินการขอออก พ.ร.ฏ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
ทุกโครงการ แต่ในระหว่างที่ ดำเนินการขอออก พ.ร.ฎ. ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่เสนอขอออก พ.ร.ฎ. จน พ.ร.ฎ.
ประกาศใช้บังคับประมาณ 8 - 10 เดือนในช่วงเวลานี้ก็จะดำเนินการโดยวิธีปรองดองไปก่อนเพื่อเป็นการลดปัญหา
ความเดือดร้อนของผู้ถูกเวนคืนและทำให้สามารถได้รับเงินค่าทดแทนทรัพย์สินได้รวดเร็วขึ้น
     1.2 โดยวิธีการจัดซื้อตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ

2. โดยการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน (พ.ร.ฎ.) ซึ่งจะระบุท้องที่ จุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด
และความกว้างของเขต พ.ร.ฎ.
     2.1 การปิดประกาศ พ.ร.ฎ. จะปิดประกาศไว้ตามสถานที่ดังนี้
           2.1.1 ที่ทำการของเจ้าหน้าที่
           2.1.2 ศาลากลางจังหวัด หรือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
           2.1.3 สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร หรือ
                     สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขา
           2.1.4 ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขต
           2.1.5 ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหรือที่ทำการเทศบาล
           2.1.6 ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่

3. โดยการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ (พ.ร.บ.) เพื่อให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตกเป็นของรัฐ

ขั้นตอนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

1. การสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ยืนต้นผู้รับมอบหมายจากกรมทางหลวงในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนจะแจ้งกำหนด
วันเข้าทำการสำรวจเป็นหนังสือให้เจ้าของทรัพย์สินทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน

2. การกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนจะดำเนินการโดยคณะกรรมการปรองดอง (ในขั้นปรองดอง)
หรือคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น (ในขั้น พ.ร.ฎ.) หรือคณะกรรมการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์
ที่จะต้องเวนคืน (ในขั้น พ.ร.บ.) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งประกอบด้วย ผู้แทนของเจ้าหน้าที่หนึ่งคน
ผู้แทนกรมที่ดินหนึ่งคน ผู้แทนของหน่วยงานอื่นของรัฐหนึ่งคน ผู้แทนสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคา
เบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องคืนและจำนวนเงินค่าทดแทน

3. การกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์จะกำหนดให้แก่บุคคลต่อไปนี้
     3.1 เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืน
     3.2 เจ้าของโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนไม่ได้ ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นในวันใช้บังคับ
            พระราชกฤษฏีกาหรือได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
     3.3 ผู้เช่าที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นในที่ดินที่ต้องเวนคืน แต่การเช่านั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
            ซึ่งได้ทำไว้ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาหรือได้ทำขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่และการเช่านั้น
            ยังมิได้ระงับไปในวันที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าครอบครองที่ดิน โรงเรือนหรือ
            สิ่งปลูกสร้างดังกล่าว แต่เงินค่าทดแทนในการเช่านี้พึงกำหนดให้เฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริงโดยเหตุที่ต้องออก
            จากที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก่อนสัญญาเช่าระงับ
     3.4 เจ้าของต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ดินในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา
     3.5 เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนได้ ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นในวันใช้บังคับ
            พระราชกฤษฎีกาแต่ต้องไม่เป็นผู้ซึ่งจำต้องรื้อถอนโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปเมื่อได้รับแจ้งจาก
            เจ้าของที่ดินเงินค่าทดแทนตามข้อ 3.5 นี้พึงกำหนดให้เฉพาะค่ารื้อถอนค่าขนย้ายและค่าปลูกสร้างใหม่
           (ในสภาพเดิม)
     3.6 บุคคลผู้เสียสิทธิ์ในการใช้ทาง วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืน
            ตามมาตรา 1349 หรือ มาตรา 1352 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในกรณีที่บุคคลเช่นว่านั้น
            ได้จ่ายค่าทดแทนในการใช้สิทธิดังกล่าวให้แก่เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืนแล้ว

4. การกำหนดค่าทดแทนจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยคำนึงถึง
     4.1 ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ
            พระราชกฤษฎีกา
     4.2 ราคาของอสังหาริมพรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
     4.3 ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
     4.4 สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น
     4.5 เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
     4.6 การได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการเวนคืน
     4.7 ค่าทดแทนความเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนกรมทางหลวงจะจ่ายเงินค่าทดแทน
            ให้ได้เมื่อพิสูจน์ได้ว่าค่าเสียหายนั้นมีอยู่จริงโดยมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีอยู่จริงตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย

          ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม

5. การปิดประกาศราคาที่กำหนดเมื่อคณะกรรมการได้กำหนดราคาค่าทดแทนแล้วจะปิดประกาศราคาไว้ตามสถานที่เดียวกัน
กับที่ปิดประกาศ พ.ร.ฎ. ในข้อ 2.1

6. การจัดทำบันทึกข้อตกลง หรือสัญญาซื้อขายเมื่อคณะกรรมการฯ ได้กำหนดค่าทดแทนแล้ว เจ้าหน้าที่จะมีหนังสือแจ้ง
ให้เจ้าของทรัพย์สินมาทำบันทึกข้อตกลง หรือสัญญาซื้อขาย

7. การจ่ายเงินค่าทดแทน เมื่อทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขายแล้วกรมทางหลวงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนทั้งหมด
ให้แก่เจ้าของทรัพย์สินภายใน 120 วัน นับแต่วันทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขาย

          กรณีเป็นที่ดิน กรมทางหลวงจะจ่ายเงินค่าทดแทนเมื่อเจ้าของทรัพย์สินได้จดทะเบียนหรือแก้ไขหลักฐาน
ทางทะเบียนแล้ว

          เมื่อประกาศใช้ พ.ร.ฎ. และมีประกาศกำหนดให้การเวนคืนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนแล้ว หากเจ้าของ
ทรัพย์สินไม่ยินยอมจัดทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขายหรือยินยอมจัดทำบันทึกข้อตกลง หรือสัญญาซื้อขาย
แต่ไม่มารับเงินค่าทดแทนภายในกำหนดเวลา เจ้าหน้าที่จะนำเงินไปวางต่อศาลหรือต่อสำนักงานวางทรัพย์หรือ
นำเงินไปฝากธนาคารออมสินในชื่อของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ถ้าเจ้าของทรัพย์สินไม่ร้องขอรับเงินภายใน 10 ปี
นับแต่วันที่ได้นำเงินวางต่อศาลหรือต่อสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากธนาคารออมสิน เงินค่าทดแทนนั้นจะตกเป็นของแผ่นดิน

8. การใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อครอบครองรื้นถอนสิ่งปลูกสร้าง
     8.1 กรณีทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขาย ถ้าเจ้าของไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ที่จะรื้อถอนได้
ตามบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาหซื้อขาย
     8.2 กรณีไม่ทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขายเจ้าหน้าที่จะดำเนินการแจ้งครอบครอง วางเงินและรื้อถอน
ตามกฎหมายต่อไป

สิทธิ หน้าที่และผลประโชยน์ของผู้ถูกเวนคืน

ขั้นการจัดซื้อโดยวิธีปรองดอง

1. อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจ ปักหลักแนวเขตทาง
2. ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดิน ต่อสำนักงานที่ดิน โดยค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการรังวัดแบ่งแยก
     กรมทางหลวงจะเป็นผู้จ่ายเอง
3. นำชี้หมุดหลักเขตที่ดิน
4. นำสำรวจสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ยืนต้น
5. แสดงเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หลักฐานกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โฉนด น.ส.3, น.ส.3 ก ฯลฯ)
     ทะเบียนสมรสและอื่นๆ เช่น เอกสารแสดงรายได้จากการเช่าหรือประกอบการค้า หลักฐานการเสียภาษีหรือ
     รายได้จากการประกอบอาชีพอันชอบด้วยกฎหมายตามที่เจ้าหน้าที่ร้องขอ
6. ให้ถ้อยคำแก่เจ้าหน้าที่ตามความจริง
7. ลงชื่อรับรองการให้ถ้อยคำ รับรองแนวเขตที่ดิน รับรองรายละเอียด สิ่งปลูกสร้างและรับรองต้นไม้ยืนต้น
8. ไม่มีสิทธิอุทธรณ์เงินค่าทดแทน

ขั้นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)

เมื่อดำเนินการตามข้อ 1-7 เช่นเดียวกันกับในขั้นปรองดองแล้ว ผู้ถูกเวนคืนในขั้น พ.ร.ฎ. จะมีสิทธิ หน้าที่เพิ่มเติมคือ

1. กรณีตกลงราคาหรือทำสัญญาที่ดิน เจ้าของมีหน้าที่ไปแก้ไขหลักฐานทางทะเบียนหรือจดทะเบียน โดยเจ้าหน้าที่
     เป็นผู้ประสานงานดำเนินการกับสำนักงานที่ดิน
2. ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์
3. กรณีที่ดินติดจำนองจะต้องดำเนินการปลอดจำนองก่อนหรือได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองเป็นหลักฐานก่อนรับเงิน
4. มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในกรณีที่กรมทางหลวงจ่ายเงินค่าทดแทนพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันทำบันทึกข้อตกลง
     หรือสัญญาซื้อขายนั้น
5. หากไม่พอใจในราคาหรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการฯ กำหนดสามารถรับเงินไปก่อน แล้วยื่นอุทธรณ์
     ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายใน 60 วันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทน โดยสามารถ
     ยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ
6. มีสิทธิฟ้องคดี แยกได้ 2 กรณี คือ
     6.1 กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้รับแจ้งผลการวินิจฉัยภายใน 60 วันนับแต่วันที่ยื่นอุทธรณ์ ในกรณีนี้ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องคดี
           ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการวินิจฉัยดังกล่าว
     6.2 กรณีที่ยื่นอุทธรณ์ไว้จนระยะเวลาล่วงเลยมาจนครบ 60 วันแล้ว แต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการวินิจฉัย ในกรณีนี้
           ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี แต่วันที่ครบกำหนดเวลา 60 วัน ดังกล่าว
7. สิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนบางส่วน เจ้าของจะร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนพิจารณาเวนคืนส่วนที่เหลือซึ่งใช้การไม่ได้แล้ว
     ด้วยก็ได้และหากเจ้าหน้าที่ไม่เวนคืนตามที่ร้องขอ เจ้าหน้าที่มีสิทธิที่จะร้องขออุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
     คมนาคมภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
8. ที่ดินถูกเวนคืนบางส่วน ถ้าส่วนที่เหลือน้อยกว่ายี่สิบห้าตารางวาหรือด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่าห้าวา และที่ดิน
     ส่วนที่เหลือนั้นมิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกันหากเจ้าของร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืน
     หรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือด้วย

ขั้นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

          กรมทางหลวงจะดำเนินการขอออก พ.ร.บ. รายที่กรรมสิทธิ์ยังไม่ตกเป็นของรัฐรวมทั้งรายที่ได้วางเงินไว้ต่อศาล หรือวางเงินไว้ต่อสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากเงินไว้กับธนาคารออมสิน   ทั้งนี้  เพื่อให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์
ตกเป็นของรัฐ


'