กรมทางหลวง
DEPARTMENT OF HIGHWAYS
มุ่งพัฒนาและดูแลบริหารจัดการโครงข่ายทางหลวงที่สะดวก เชื่อมโยง เข้าถึง ปลอดภัย ตามมาตรฐานลำดับชั้นทางหลวง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคนทุกกลุ่ม

โครงการทางหลวงอาเซียน

ลงวันที่ 10/04/2561

ความเป็นมา

การประชุมรัฐมนตรีขนส่งของอาเซียน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวงจัดทำร่างรายงานเพื่อใช้กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียนเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 3 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนกันยายน 2540 มติที่ประชุมเห็นชอบในหลักการของโครงการพัฒนาทางหลวงอาเซียน และมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานหลักในการดำเนินงานโครงการ โดยกรมทางหลวงได้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานด้านทางหลวงอาเซียนตั้งแต่นั้นมา จนปัจจุบันได้มีการกำหนดโครงข่ายทางหลวงอาเซียนของ 10 ประเทศสมาชิกทั้งหมดจำนวน 23 สายทาง ระยะทางรวมประมาณ 37,000 กิโลเมตรเป็นส่วนของประเทศไทยจำนวน 12 สายทาง มีระยะทาง 6,731 กิโลเมตร

ผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาทางหลวงอาเซียน

ประเทศไทย โดยกรมทางหลวงได้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะผู้เชี่ยวชาญด้านทางหลวงอาเซียน มาตั้งแต่ ปี 2540 เพื่อพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียน รวมถึงกำหนดเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศของ 10 ประเทศสมาชิก ดังนั้น กรมทางหลวงจึงมีความพร้อมในฐานะแกนนำหลักในการประสาน และดำเนินงานด้านเทคนิควิชาการในการพัฒนาทางหลวงอาเซียน เช่น การวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางหลวงอาเซียน การวางมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างทางหลวงอาเซียน การวางหลักการและมาตรฐานการติดตั้งป้ายจราจรบนทางหลวงอาเซียน รวมทั้งการฝึกอบรมบุคลากรด้านงานทางแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของอาเซียน ปี 2554-2558 (ASTP/BAP 2011-2015) จากความพร้อมดังกล่าว กรมทางหลวงมีวิสัยทัศน์ในการจัดตั้งศูนย์ทางหลวงอาเซียน (ASEAN Highway Centre) ณ กรมทางหลวง เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงอาเซียนอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตอีกด้วย ในกรอบความร่วมมือโครงการทางหลวงอาเซียนเอง ก็ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาโครงการทางหลวงอาเซียน ลงนาม ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2542 โดยมีการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียนเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 
            ระยะที่ 1 : ปี พ.ศ.2543 (ค.ศ.2000) กำหนดโครงข่ายทางหลวงอาเซียนของแต่ละประเทศให้แล้วเสร็จ 
            ระยะที่ 2 : ปี พ.ศ.2547 (ค.ศ.2004) ทางหลวงของแต่ละประเทศที่ได้รับการกำหนดเป็นทางหลวงอาเซียน จะได้รับการปรับปรุงเป็นถนนมาตรฐานชั้น 3 เป็นอย่างน้อย พร้อมติดตั้งเครื่องหมายจราจรบนเส้นทางเหล่านั้นแล้วเสร็จ มีการก่อสร้างถนนช่วงที่ขาดตอน และเปิดดำเนินการจุดผ่านแดนทั้งหมด 
            ระยะที่ 3 : ปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) ทางหลวงที่กำหนดเป็นทางหลวงอาเซียนของแต่ละประเทศจะได้รับการปรับปรุงเป็นถนนมาตรฐานชั้น 1 หรือชั้นพิเศษ แต่สำหรับเส้นทางที่มีปริมาณการจราจรต่ำและไม่เป็นโครงข่ายหลัก ให้ก่อสร้างเป็นถนนมาตรฐานชั้น 2 ได้


ป้ายทางหลวงอาเซียนในประเทศไทย


แผนที่โครงข่ายทางหลวงอาเซียนในประเทศไทย 

รายละเอียดโครงข่ายทางหลวงอาเซียน 12 สายทางในประเทศไทย

รวม 6,731.5
หมายเลข รายละเอียด ระยะทาง (กม.)
AH1  บ.คลองลึก (ชายแดนไทย/กัมพูชา) - อรัญประเทศ - สระแก้ว - กบินทร์บุรี - ปราจีนบุรี - นครนายก - หินกอง - กรุงเทพ – อ่างทอง – สิงห์บุรี – ชัยนาท – นครสวรรค์ – กําแพงเพชร – ตาก – แม่สอด (ชายแดนไทย/พม่า) 697.4
AH2 สะเดา (ชายแดนไทย/มาเลเซีย) - บ.คลองแงะ - บ.คอหงษ์ - บ.คูหา - พัทลุง-อ.ทุ่งสง-อ.เวียงสระ-อ.ไชยา - อ.ละแม - ชุมพร - อ.ท่าแซะ - อ.บางสะพานน้ อย-ประจวบคีรีขันธ์-อ.ปราณบุรี - อ.ชะอํา – เพชรบุรี - อ.ปากท่อ-นครปฐม-กรุงเทพ-อ.บางปะอิน- ตาก - อ.เถิน – ลําปาง - อ.งาว - พะเยา - เชียงราย - แม่สาย (ชายแดนไทย/พม่า) 2,010.0
AH3 อ.เชียงของ (ชายแดนไทย/ลาว) - บ.ต้าตลาด - บ.หัวดอย - เชียงราย 114.8
AH12 สะพานมิตรภาพไทย/ลาว - หนองคาย - อุดรธานี - อ.น้ำพอง - ขอนแก่น - อ.บ้านไผ่ - อ.พล – นครราชสีมา - อ.สีคิ้ว – อ.มวกเหล็ก - สระบุรี - หินกอง  558.7
AH13 ห้วยโก๋น (ชายแดนไทย/ลาว) - น่าน -แพร่ - อ.เด่นชัย - อุตรดิตถ์ - พิษณุโลก - อ.สามง่าม -นครสวรรค์  577.4
AH15 นครพนม (ชายแดนไทย/ลาว) - บ.ธาตุนาแวง(สกลนคร) - อ.พังโคน - อ.สว่างแดนดิน – อุดรธานี 239.2
AH16 มุกดาหาร (ชายแดนไทย/ลาว) - อ.หนองสูง - อ.สมเด็จ – กาฬสินธุ์ - ยางตลาด – ขอนแก่น – อ.น้ำหนาว – อ.หล่มสัก – บ.แยง – อ.วังทอง - พิษณุโลก - สุโขทัย - ตาก 688.5
AH18 อ.สุไหงโกลก (ชายแดนไทย/มาเลเซีย) - อ.ตากใบ - นราธิวาส – อ.สายบุรี - อ.ปาลัด - ปัตตานี - อ.หนองจิก - อ.เทพา - อ.จะนะ – อ.หาดใหญ่  263.4
AH19 อ.ปักธงชัย - อ.กบินทร์บุรี - อ.แปลงยาว - ท่าเรือแหลมฉบัง - ชลบุรี - กรุงเทพ 391.4
AH112 อ.คลองลอย - อ.บางสะพาน 33.1
AH121 มุกดาหาร - อํานาจเจริญ - ยโสธร - อ.สุวรรณภูมิ - อ.พยัคฆภูมิพิสัย - บุรีรัมย์ - นางรอง - บ.ส้มป่อย - บ.ช่องตะโก - สระแก้ว 537.8
AH123 บ.พุน้ำร้อน (ชายแดนไทย/พม่า) - กาญจนบุรี - นครปฐม – กรุงเทพ - สมุทรปราการ - ชลบุรี - แหลมฉบัง – มาบตาพุด - ระยอง - อ.แกลง - จันทบุรี - ตราด - อ.หาดเล็ก 619.9

        ปัจจุบันประเทศไทย โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการแล้วเสร็จตามระยะที่ 2 แล้ว โดยโครงข่ายทางหลวงอาเซียนในประเทศไทยประกอบด้วย 12 เส้นทาง ได้แก่ AH 1, AH 2, AH 3, AH 12, AH 13, AH 15, AH 16, AH 18, AH 19, AH 112, AH 121 และ AH 123 มีระยะทางรวม 6,731 กม. เป็นทางหลวงอาเซียนมาตรฐานชั้น 1 และชั้นพิเศษ ระยะทาง 5,388 กม. (80%) และเป็นทางหลวงอาเซียนมาตรฐานชั้น 2 และชั้น 3 ระยะทาง 1,333 กม. (20%) พร้อมทั้งติดตั้งป้ายทางหลวงอาเซียนแล้วเสร็จ ในปี 2553 
        ขณะนี้ กรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาทางหลวงอาเซียน ในระยะที่ 3 (พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ.2020) ซึ่งกำหนดเป้าหมายการพัฒนาไว้ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนควรจะดำเนินการปรับปรุงโครงข่ายทางหลวงอาเซียนเป็นถนนมาตรฐานทางหลวงอาเซียนชั้น 1 หรือชั้นพิเศษสำหรับทางหลวงอาเซียนสายหลัก ส่วนสายรองอนุโลมให้ปรับปรุงเป็นมาตรฐานทางหลวงอาเซียน ชั้น 2 ได้ โดยให้ความสำคัญกับเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านแดนของอาเซียนเป็นลำดับแรก ดังนั้น ในอนาคตประเทศไทยควรมีนโยบายยกระดับเส้นทางทางหลวงอาเซียนให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ เชื่อมโยงกับโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งระหว่างประเทศ เพิ่มความปลอดภัยในการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้นไป


'