กรมทางหลวง
DEPARTMENT OF HIGHWAYS
มุ่งพัฒนาและดูแลบริหารจัดการโครงข่ายทางหลวงที่สะดวก เชื่อมโยง เข้าถึง ปลอดภัย ตามมาตรฐานลำดับชั้นทางหลวง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคนทุกกลุ่ม

ปลูกต้นไม้ถวายในหลวง ร.9

ลงวันที่ 09/04/2561

".....การที่จะมีต้นไม้ไปชั่วกาลนานนั้น สำคัญอยู่ที่การปลูกป่า และปลูกป่าบริเวณต้นน้ำซึ่งเป็นยอดเขาและเนินสูงนั้น ต้องมีการปลูกป่าโดยไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถนำไปใช้ได้ แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น เป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนตกแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย ซึ่งถ้ารักษาสภาพป่าไม้ไว้ดีแล้ว ท้องถิ่นก็จะมีน้ำใช้ชั่วกาลนาน...."

พระราชดำรัส 14 เมษายน 2520 


               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในปัญหาปริมาณป่าไม้ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ลดลงอย่างรวดเร็ว พระองค์ท่านได้พยายามคิดค้นหาวิธีนานาประการที่จะเพิ่มปริมาณของป่าไม้ใน ประเทศไทยให้มากขึ้นอย่างมั่นคงและถาวร โดยมีวิธีการที่เรียบง่ายและประหยัดในการดำเนินงาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะธรรมชาติดั้งเดิม

    

  
               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนึงถึงความสอดคล้องเกื้อกูลกันระหว่างการ พัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ความเข้าใจถ่องแท้ถึงธรรมชาติและสภาวะตามธรรมชาติ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติของพระองค์นั้น ทำให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อมหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรป่าไม้ซึ่งพระองค์ได้เสนอแนวคิดเรื่อง " ปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง" กล่าวคือเพื่อมิให้เกษตรกรเข้าบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ จึงควรให้ดำเนินการปลูกป่า 3 อย่าง 


               เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง คือ ป่าสำหรับไม้ใช้สอย ป่าสำหรับเป็นไม้ผล และ ป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิง ป่าหรือสวนป่าเหล่านี้นอกจากเป็นการเกื้อกูลและอำนวยประโยชน์ใน 3 อย่างนั้นแล้ว ป่าไม้ไม่ว่าเป็นชนิดใดก็จะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำและคงความชุ่มชื้นไว้ อันเป็นการอำนวยประโยชน์อย่างที่ 4 ซึ่งเป็นผลพลอยได้ "การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก" เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งถึงวิถีธรรมชาติ โดยได้พระราชทานแนวคิดว่า บางครั้งป่าไม้ก็เจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ ขอเพียงอย่าเข้าไปรบกวนและทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากปล่อยไว้ตามสภาพชั่วระยะเวลาหนึ่ง ป่าไม้ก็จะขึ้นสมบูรณ์เอง การระดมปลูกป่าด้วยความไม่เข้าใจ เช่น ปอกเปลือกหน้าดินซึ่งมีคุณค่ามากออกไปและปลูกพันธุ์ไม้ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและระบบนิเวศบริเวณนั้น นอกจากต้นไม้ที่ปลูกจะตายโดยไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังทำลายสภาพแวดล้อมอีกด้วย แนวความคิดที่ลึกซึ้งนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า "ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก" ซึ่งเป็นที่ยึดถือกันในหมู่ผู้รู้ทั่วไป 

                ภารกิจหลักของกรมทางหลวง คือการก่อสร้างและบำรุงทางหลวงทั่วประเทศ และการก่อสร้างทางหรือขยายทาง ในบางครั้งในบางพื้นที่นั้นจำเป็นต้องตัดต้นไม้ที่มีอยู่สองข้างทางเดิมออก บ้าง เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมากรมทางหลวงไม่เคยทอดทิ้งความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างทางแต่ละสายทางจะรักษาต้นไม้ที่มีอยู่เดิมไว้ให้มากที่สุด หากจำเป็นต้องตัดก็จะมีการปลูกเพิ่มเติม โดยมีแนวทางการปลูกต้นไม้สองข้างทางกำหนดเป็นแบบมาตรฐานไว้ในแผนงานก่อสร้าง ทางทุกสายทาง ซึ่งการปลูกต้นไม้ดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางด้านวิศวกรรมและภูมิส ถาปัตย์แล้ว ยังทำให้เกิดความสวยงาม ร่มรื่น และเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย จากภารกิจดังกล่าว  

                กรมทางหลวงยังดำเนินการปลูกต้นไม้ในพื้นที่นอกเขตทางที่เป็นที่ดินสงวนซึ่ง กระจายอยู่ในพื่นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในรูปแบบของการจัดทำเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนและในลักษณะของสวน ป่า เพื่อให้เกิดความร่มรื่น สวยงาม และเป็นการสร้างความเขียวขจีให้กับประเทศ และการดำเนินการอันสำคัญยิ่งสำหรับกรมทางหลวงก็คือ


โครงการปลูกต้นไม้เพื่อถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังต่อไปนี้

               1. โครงการปลูกซ่อมแซมต้นไม้ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 จากมติคณะรัฐมนตรี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ได้อนุมัติให้จัดทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชปีที่ 50 ขึ้น โดยความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งกระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงได้เริ่มดำเนินการปลูกต้นไม้เพื่อร่วมโครงการดังกล่าว นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2537-2539 ตามแผนงานการปลูกป่าสองข้างทางหลวงแผ่นดินและทางรถไฟ โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้บริเวณสองข้างทางหลวงทั่วประเทศในสายทางต่าง ๆ รวมระยะทาง 20,000 กิโลเมตร จำนวน 15 ล้านต้น บนเนื้อที่ประมาณ 100,000 ไร่ ซึ่งในครั้งนั้นใช้ชื่อโครงการว่า " ป่าเขียวขจีสองข้างทางหลวง" โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

                    - สนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการปลูกต้นไม้รักษาสิ่งแวดล้อม 
                    - เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าตามนโยบายรัฐบาล 
                    - เพื่อให้ต้นไม้ให้ความร่มรื่น สวยงาม เป็นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของสัตว์ป่า 
                    - เพื่อลดมลภาวะและป้องกันภัยธรรมชาติ 
                    - เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม

               2. โครงการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติในวโรกาสทรงมีพระชนมายุ 72 พรรษา โครงการนี้กรมทางหลวงจัดทำขึ้นเพื่อปลูกต้นไม้ยืนต้นที่จะเติบโตเป็นต้นไหญ่ ให้ร่มเงา และมีดอกสวยงามตลอดสองข้างทางหลวงและในเกาะกลางบริเวณถนนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองสำคัญและเข้าสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 6 รอบ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2541-2542 จำนวน 543,925 ต้น ใน 249 สายทาง

               ซึ่ง กรมทางหลวง ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ในโครงการนี้แล้วเสร็จรวมทั้งสิ้น 712,923 ต้น นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังมีโครงการปลูกต้นไม้เนื่องในวโรกาสสำคัญ ๆ เช่น โครงการปลูกต้นไม้สองข้างทางและในเกาะกลางถนน กำหนดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2542-2545 จำนวน 3,648,779 ต้น ใน 593 สายทาง โดยใน พ.ศ. 2541 ได้ดำเนินการปลูกไปแล้ว 1,096,937 ต้น ใน พ.ศ. 2542 ปลูกไปแล้วจำนวน 917,270 ต้น และใน พ.ศ. 2543 ปลูกไปแล้วจำนวน 747,222 ต้น

               โครงการปลูกซ่อมแซมต้นไม้ในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2542-2546 จำนวน 4,796,232 ต้น ใน824 สายทาง ซึ่งใน พ.ศ. 2542 ได้ดำเนินการปลูกไปแล้วจำนวน 1,161,532 ต้น และใน พ.ศ. 2543 ปลูกไปแล้วจำนวน 1,099,225 ต้น โครงการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติครบรอบ 100 ปี สมเด็จย่า ณ บริเวณชุมทางต่างระดับพุทธมณฑลสาย 2 โครงการปลูกต้นไม้ โครงการ 9 นาที 9 ล้านต้น เพื่อล้นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ. 2543 โดยร่วมกับกรมป่าไม้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้บริเวณพื้นที่สำนักงานตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การปลูกต้นไม้ตามสถานที่ต่าง ๆ นั้น กรมทางหลวงได้คัดเลือกพันธุ์ไม้โดยยึดหลักความเหมาะสมกับพื่นที่ ในแต่ละภาคของประเทศ เช่น สะเดา ขี้เหล็ก สักทอง มะขาม หางนกยูง ราชพฤกษ์ ต้นปีบ ทรงบาดาล เฟื่องฟ้า เป็นต้น

               ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา กรมทางหลวงได้ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้พร้อม ๆ ไปกับการก่อสร้าง และบำรุงรักษาเส้นทาง ทั้งนี้เพื่อให้ต้นไม้บริเวณสองข้างทางและในพื้นที่ดินของกรมทางหลวง ทั่วประเทศ เป็นแหล่งป่าไม้ที่ให้ความร่มรื่น เขียวขจี ก่อให้เกิดความชุ่มชื้นแก่แผ่นดิน เป็นการสืบสานแนวพระราชดำริ ในการปลูกป่าของ " พ่อของแผ่นดิน "

ที่มา แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) 
พิมพ์ที่ บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด 2540 
กองบำรุง กรมทางหลวง


'