ความเป็นมา
นับจากปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในอนุภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion; GMS) ประกอบด้วยจีน พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา และประเทศไทย ได้เห็นพ้องกันในการดำเนินการร่วมกันพัฒนาพื้นที่อนุภาคลุ่มน้ำโขง ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย การพัฒนาระบบโครงข่ายถนนนี้จะเชื่อม 4 ประเทศ ได้แก่ พม่า ไทย ลาว และเวียดนามตามแผนการเชื่อมโยงเส้นทาง ตะวันออก-ตะวันตก (East West Transport Corridor; E-WEC) อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนา ครอบคลุมถึงการลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน การท่องเที่ยว ความสัมพันธ์ ฯลฯ ที่สำคัญคือการเอื้ออำนวยให้ตอนกลางของเวียดนาม ลาว ไทย และภาคใต้ของพม่า กลายเป็นตลาดจำหน่ายสินค้าโดยตรงกับด้านตะวันออก ได้แก่ ภาคใต้ของจีน ฟิลิปปินส์ เกาหลี และญี่ปุ่น ตลอดจนในด้านตะวันตก ได้แก่ บังคลาเทศ และภาคใต้ของอินเดีย
ปี พ.ศ. 2538 ผลการศึกษาพบว่าแนวเส้นทาง East - West Corridor เพื่อเชื่อมระหว่างพม่า - ไทย - ลาว - เวียดนาม นั้น แนวมุกดาหาร - สะหวันนะเขต - ดองฮา นับเป็นแนวที่เหมาะสมที่สุด และในการประชุมระดับรัฐมนตรีโครงการ GMS มีมติให้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่มุกดาหาร - สะหวันนะเขต ในขณะที่การก่อสร้างทางหลวงในไทยและเวียดนามได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ปี พ.ศ. 2540 ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้ให้เงินช่วยเหลือ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ศึกษาและออกแบบโครงการ East-West Corridor ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ สะพานข้ามแม่น้ำโขงมุกดาหาร - สะหวันนะเขต ปรับปรุงถนนหมายเลข 9 ใน สปป.ลาว และปรับปรุงท่าเรือดานัง
วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2544 รัฐบาลไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรี สปป.ลาว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคมขนส่ง ไปรษณีย์และก่อสร้าง ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) โดยให้แบ่งโครงการเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ตัวสะพานพร้อมถนนเชื่อมคอสะพาน (Bridge Approach) และเปลี่ยนทิศทางการจราจร (Traffic Changeover) ส่วนที่ 2 อาคารด่านควบคุมและถนนเชื่อมต่อฝั่งลาว ส่วนที่ 3 อาคารด่านควบคุมและถนนเชื่อมต่อฝั่งไทย
วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2546 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แห่งราชอาณาจักรไทย และท่านบัวทอง วงลอคำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคมขนส่ง ไปรษณีย์และก่อสร้างแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวร่วมลงนามในสัญญาก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 2 และได้เริ่มการก่อสร้างสะพานสะพานมิตรภาพ 2
วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2547 พิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 2 โดยนายกรัฐมนตรีประเทศไทยและสปป.ลาว
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงเป็นประธานประกอบพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ร่วมกับ ฯพณฯ นายบุนยัง วอละจิด
รองประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ บริเวณพิธีจุดกึ่งกลางของสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2
ลักษณะของโครงการสะพานมิตรภาพ 2
ลักษณะโครงการประกอบด้วยตัวสะพานหลักทอดข้ามแม่น้ำโขงยาว 1,600 เมตร สะพานกว้าง 12 เมตร เป็นสะพานคอนกรีตอัดแรง ใช้เป็นสะพานรถยนต์ข้ามอย่างเดียวโดยโครงสร้างสะพานด้านคอสะพานฝั่งไทยยาว 250 เมตร และด้านฝั่ง สปป.ลาว ยาว 200 เมตร รวมเป็นความยาวสะพานทั้งสิ้น 2,050 เมตร นอกจากนั้น บนสองฝั่งของแม่น้ำโขงเป็นงานก่อสร้างอาคารด่านควบคุมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ (Border Control Facilities)
ตำแหน่งสะพาน
ตำแหน่งที่ตั้งของโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 2 ฝั่งไทย มีจุดเริ่มต้นที่บ้านสงเปือย ตำบลบางทรายใหญ่ เหนือตัวเมืองมุกดาหารประมาณ 7 กิโลเมตร ฝั่งลาวอยู่ที่บ้านนาแก เหนือตัวเมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขตประมาณ 5 กิโลเมตร ฝั่งไทยมีถนนเชื่อมไปยังทางหลวงหมายเลข 212 สายอุบลราชธานี - มุกดาหาร - นครพนม ด้าน สปป.ลาว เชื่อมไปยังทางหลวงหมายเลข 9 อันเป็นเส้นทางมุ่งตรงสู่ท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม ทั้งนี้กรรมสิทธิ์ในโครงการของแต่ละประเทศอยู่ที่จุดกึ่งกลางของสะพาน
องค์ประกอบสะพาน
(1) ทางเข้าสะพาน 652 เมตร ทางฝั่งลาว 178 เมตร ทางฝั่งไทย 474 เมตร
(2) สะพานบนฝั่ง 450 เมตร 200 เมตร 250 เมตร
(3) สะพานในน้ำ 1600 เมตร 800 เมตร 800 เมตร
(4) เขื่อนป้องกันตลิ่งพัง 454 เมตร 400 เมตร 54 เมตร
งบประมาณ
งบประมาณที่ใช้ทั้งหมดประมาณ 8,090 ล้านเยน ดำเนินการกู้จาก เจบิก (Japan Bank for International Cooperations, JBIC) โดยฝ่ายไทยและลาวรับผิดชอบค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง ทั้งนี้ความตกลง
ว่าด้วยการก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยสัญญาทั้ง 3 Package ประกอบด้วย
Package 1 มูลค่าสัญญา 3,483,016,839 เยน ระยะเวลาการก่อสร้าง 36 เดือน ผู้รับเหมา ประกอบด้วย กลุ่มกิจการร่วมค้า สุมิโตโมมิตชุยคอนสตรัคชั่น จำกัด บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง บริษัท
สยามซินแท็คคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์
Package 2 มูลค่า 726,286,709 เยน ระยะเวลาก่อสร้าง 24 เดือน ประกอบด้วยกลุ่มกิจการร่วมค้า
ชิมิซึ คอร์ปอเรชั่น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
Package 3 มูลค่า 544,410,275 เยน ระยะเวลาก่อสร้าง 24 เดือน ประกอบด้วยกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เลตัน คอนแทรคเตอร์ (เอเชีย) จำกัด, บริษัท ทองมา คอนแทรคเตอร์ จำกัด
หน่วยงานดำเนินการก่อสร้าง
ฝ่ายไทย ได้แก่ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม
ฝ่ายลาว ได้แก่ กระทรวงคมนาคม การขนส่ง ไปรษณีย์และก่อสร้าง