ความเป็นมา
จากแนวความคิดที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงในปี พ.ศ. 2499 องค์การยูซ่อม (USOM) และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เริ่มทำการสำรวจความเป็นไปได้แลละความเหมาะสมของการสร้างสะพานและได้เสนอทางเลือกแนวสะพานไว้ 3 แนว
ในปี พ.ศ. 2508 คณะกรรมการประสานงานสำรวจลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างซึ่งขณะนั้นประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ได้บรรจุโครงการนี้ไว้ในแผนพัฒนา 10 ปี
ในปี พ.ศ. 2510 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือด้านการสำรวจและการศึกษาความเหมาะสมในการออกแบบก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงซึ่งมีลักษณะเป็นสะพานโครงเหล็ก ที่มีถนน ให้รถยนต์และรถไฟผ่าน และเสนอเลือกเส้นทางหนองคาย - เวียงจันทน์
ในปี พ.ศ. 2514 ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB ได้ดำเนินการศึกษาทบทวนโครงการนี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางด้านเงินทุน แต่ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า ยังไม่คุ้มค่าเพียงพอต่อการลงทุน ดังนั้นสำนักงานพลังงานแห่งชาติ (กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานในปัจจุบัน) จึงได้พิจารณาศึกษา ปรับปรุง ลักษณะของสะพานจากแบบโครงเหล็กให้เป็นแบบคอนกรีตอัดแรงเพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้าง แต่สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศไทยในขณะนั้นไม่อำนวย โครงการนี้จึงหยุดชะงักลง
ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองกลับสู่สภาวะปกติ และในโอกาสที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ไปเยือน สปป.ลาว ผู้นำรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศได้หยิบยกเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำโขงขึ้นมาปรึกษาหารือกันและตกลงเห็นชอบที่จะให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง หนองคาย - เวียงจันทน์และได้ออกแถลงการณ์ร่วมตกลงในหลักการที่จะให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงขึ้น หลังจากนั้นก็ได้มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามข้อตกลงนี้ต่อเนื่องมาตามลำดับ
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2532 คณะกรรมการโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงของไทยได้มีมติให้ดำเนินงานโครงการสะพานที่มีทั้งถนนและทางรถไฟ และโดยที่โครงการนี้ได้ริเริ่มมาจากคณะกรรมการฯ แม่น้ำโขง จึงได้มอบหมายให้สำนักงานพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและดำเนินการประสานงานตามโครงการนี้
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (นาย R.J. HAWKE) เดินทางมาเยือนประเทศไทยและมีแถลงการณ์ว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าก่อสร้างในวงเงิน 30 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2532 ได้มีการประชุมไตรภาคีของคณะที่ปรึกษา 3 ฝ่าย ไทย สปป.ลาว และออสเตรเลีย ขึ้น ณ กรุงเวียงจันทน์ สรุปผลการประชุมว่าจะมีการทำบันทึกความเข้าใจ 3 ฝ่าย ระหว่าง ออสเตรเลีย ไทย และสปป.ลาว เพื่อกำหนดความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายและพิจารณาหาข้อสรุปร่วมลงนามเป็นข้อตกลงก่อนที่จะมีการเริ่มงานในโครงการ
วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2533 มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่าง ไทย สปป.ลาว และออสเตรเลีย ในประเทศไทย ณ หองาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีไทยเป็นประธาน และมีนายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน (ปัจจุบันคือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เป็นผู้แทนฝ่ายไทย นายเซิน เพ็ดสังหาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์และการก่อสร้างผู้แทนฝ่าย สปป.ลาว พร้อมด้วย Mr. Richard Butler เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และ Mr. Philip Jackson เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศลาว ร่วมลงนาม ซึ่งสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจร่วมกันประกอบด้วย การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการของแต่ละฝ่าย กล่าวคือ ผู้รับผิดชอบโครงการฝ่ายออสเตรเลีย ได้แก่ AIDAB (The Australian International Development Assistance Bureau) ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้า ผู้รับผิดชอบโครงการฝ่าย สปป.ลาว ได้แก่ กระทรวงคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์และก่อสร้าง ส่วนผู้รับผิดชอบโครงการฝ่ายไทย ได้แก่ สำนักงานพลังงานแห่งชาติ (กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในปัจจุบัน) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในปัจจุบัน)
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2534 ได้มีการประชุมคณะกรรมการโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ที่ประชุมมีมติให้สะพานข้ามแม่น้ำโขงหนองคาย - เวียงจันทน์ แห่งนี้ ใช้ชื่อว่า “สะพานมิตรภาพ” (FRIENDSHIP BRIDGE)
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2534 มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับสะพานข้ามแม่น้ำโขง หนองคาย - เวียงจันทน์ ระหว่างฝ่ายไทย - สปป.ลาว - ออสเตรเลีย ฝ่ายไทย นายสง่า สรรพศรี รมว.วทพ.
ฝ่ายลาว นายเซิน เพ็ดสังหาน รมช.กระทรวงคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์และก่อสร้าง และออสเตรเลีย ได้แก่ นายริชาร์ด บัดเลอร์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และนายไมเคิล มานน์ เอกอัคราชทูตออสเตรเลียประจำ สปป.ลาว ร่วมลงนาม ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้คัดเลือกบริษัท John Hollands Construction Pty. Ltd. ให้มาดำเนินการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างสะพานร่วมกับบริษัท Kinsun อีกบริษัทหนึ่งจากประเทศไทย และได้เซ็นสัญญาจ้างในวงเงินประมาณ 30.5 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 750 ล้านบาท
วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 นายประเทศ สูตะบุตร เลขาธิการการพลังงานแห่งชาติ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับพิธีเปิดโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงหนองคาย - เวียงจันทน์ (สะพานมิตรภาพ) ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน
วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 พิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเปิดการก่อสร้างโครงการสะพานมิตรภาพโดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไทย นายคำไต สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว และนายนีล บูลเอ็ท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและพัฒนาโพ้นทะเลของออสเตรเลียเข้าร่วมพิธี
วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2535 นายประเทศ สูตะบุตร อธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พร้อมคณะเดินทางไปตรวจความก้าวหน้าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ณ บริเวณจุดก่อสร้างสะพาน บ้านจอมมณี อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2535 นายประเทศ สูตะบุตร อธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เรื่อง ผลงานความก้าวหน้าสะพานมิตรภาพ ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2535 การประชุมไตรภาคี คณะกรรมการที่ปรึกษา 3 ฝ่าย ไทย - สปป.ลาว - ออสเตรเลีย ครั้งที่ 5 โดยมี นายประเทศ สูตะบุตร อธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เป็นประธานการประชุม และผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายเซิน เพ็ดสังหาน รมช.กระทรวงคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์และก่อสร้าง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน สปป.ลาว นายทิม เทอร์เรลล์ หัวหน้าคณะผู้แทนออสเตรเลีย เพื่อรับทราบความก้าวหน้าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ณ โรงแรมแม่โขงรอยัล จังหวัดหนองคาย
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 นายประเทศ สูตะบุตร อธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน นำคณะเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส จากประเทศสวีเดน ดูงานความก้าวหน้าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพที่บ้าน
จอมมณี จังหวัดหนองคาย และที่ท่านาแล้ง แขวงเวียงจันทน์
วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2536 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยี่ยมชมโครงการการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ โดยมีนายประเทศ สูตะบุตร อธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ถวายการต้อนรับ และถวายรายงานความก้าวหน้าโครงการฯ ณ ศูนย์สำรวจอุกทกวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 นายประเทศ สูตะบุตร อธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และคณะผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นำโดยนายเซิน เพ็ดสังหาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์ และก่อสร้าง ร่วมประชุมเพื่อเจรจาจัดทำข้อตกลงว่าด้วยกรรมสิทธิ์เขตอำนาจการบริหาร และการบำรุงรักษาสะพานมิตรภาพ ครั้งที่ 1 ณ โรงแรมแม่โขงรอยัล จังหวัดหนองคาย
วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 คณะผู้แทนไทยนำโดย นายประเทศ สูตะบุตร อธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และคณะผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขนส่ง ไปรษณีย์ และก่อสร้าง ได้ร่วมประชุมเรื่องกรรมสิทธิ์เขตอำนาจการบริหารและการบำรุงรักษาสะพานมิตรภาพ ครั้งที่ 2 ณ สำนักงานชั่วคราว ท่านาแล้ง เชิงสะพานมิตรภาพฝั่งลาว
วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2537 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วมในระดับนโยบาย ในการกำหนดนโยบายบริหารและบำรุงรักษาสะพานมิตรภาพและคณะเจ้าหน้าที่ประจำในการบำรุงรักษาสะพาน
วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2537 จัดพิธีเปิดสะพานอย่างเป็นทางการ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นประธานร่วมกับ ฯพณฯ หนูฮัก พูมสะหวัน และประธานประเทศแห่งสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ ฯพณฯ พอล คีตติง นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ณ สะพานมิตรภาพฯ ระหว่างบ้านจอมมณีอำเภอเมืองจังหวัดหนองคาย และท่านาแล้ง เมืองหาดทรายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเข้าร่วมพิธีเปิดสะพานฯ ด้วย
วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2537 เปิดใช้สะพานมิตรภาพอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันมีทางรถไฟสายหนองคาย - ท่านาแล้ง หรือทางรถไฟสายหนองคาย - เวียงจันทน์ มีรถไฟโดยสารและรถไฟบรรทุกสินค้า เป็นทางรถไฟระหว่างประเทศที่เชื่อมประเทศไทยและสปป.ลาว มีระยะทางทั้งหมด 5.35 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากสถานีรถไฟหนองคาย ข้ามสะพานมิตรภาพไทย - ลาว จนถึงสถานีปลายทางคือท่านาแล้ง
องค์ประกอบสะพาน
(1) ทางเข้าสะพาน 1382 เมตร ทางฝั่งลาว 650 เมตร ทางฝั่งไทย 732 เมตร
(2) สะพานบนฝั่ง 509 เมตร 240 เมตร 256 เมตร
(3) สะพานในน้ำ 665 เมตร 332.5 เมตร 332.5 เมตร
(4) เขื่อนป้องกันตลิ่งพัง 400 เมตร 400 เมตร 0 เมตร
(5) ทางเลียบเข้าสะพาน
ลักษณะโครงสร้างสะพาน
(1) เป็นสะพานคอนกรีต (Variable-depth Concrete box Grider)
(2) ตัวสะพานข้ามแม่น้ำ (Main bridge structure) มี 6 ตอม่อ แต่ละตอม่อห่างกัน 105 เมตร รวมความยาว ของตัวสะพานจากฝั่งไทยถึงฝั่ง สปป.ลาว 665 มตร
(3) ทางลาดลงจากตัวสะพาน (Approach Structure) ทางฝั่งไทยมีความยาว 269 เมตร ฝั่ง สปป.ลาวยาว 240 เมตร
(4) สะพานมีความยาวทั้งสิ้น 1,174 เมตร ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมคันคอดิน (Approach Embankment) ทั้ง 2 ฝั่ง
(5) มีจุดเปลี่ยนการจราจร (Traffic changeover) อยู่ทางฝั่ง สปป.ลาว
(6) ความกว้างสะพานรวมทั้งสิ้น 12.7 เมตร ประกอบด้วย
- ช่องทางเดินรถ 2 ช่อง ช่องละ 3.50 เมตร
- เกาะกลางถนนกว้าง 0.5 เมตร เพื่อมีไว้สำหรับวางรางรถไฟในอนาคต
- ไหล่ถนนข้างละ 0.5 เมตร
- ทางเดินเท้า 2 ข้าง ข้างละ 1.5 เมตร
(7) ใต้สะพานที่ให้เรือผ่านมีช่วงกว้าง 60 เมตร และสูง 10 เมตร จากระดับน้ำสูงสุดที่ 167.0 เมตร (MSL)
ยุทธศาสตร์ชาติและประโยชน์ที่ได้รับ
(1) การคมนาคมระหว่างประเทศไทยและลาวมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น
(2) อัตราการเดินทางเข้า - ออก ระหว่างประเทศผ่านทางสะพานมิตรภาพเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการขนส่งสินค้า การติดต่อทางด้านเศรษฐกิจ การเดินทางท่องเที่ยว และอื่น ๆ
(3) เกิดความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งผูกมิตรความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศให้
แน่นแฟ้น มีการพัฒนาและก้าวหน้าไปด้วยกัน