นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอดพร้อมโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นและรองรับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตกหรือ East - West Economic Corridor ประกอบด้วยตัวสะพานข้ามแม่น้ำเมย ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ถนนเพื่อเชื่อมต่อสะพานทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งอาคารด่านพรมแดน (Border Control Facilities) เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานต่างๆที่มีภารกิจรับผิดชอบการตรวจผ่านแดน เข้ามาใช้สถานที่ปฏิบัติงานให้บริการประชาชนร่วมกัน อาทิ เช่น กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมปศุสัตว์ โดยล่าสุดความคืบหน้าโครงการอาคารด่านพรมแดน (Border Control Facilities) ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างด่านศุลกากรฝั่งไทยคืบหน้ากว่า ร้อยละ16 ฝั่งเมียนมา คืบหน้ากว่าร้อยละ 31 และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2562 สำหรับโครงข่ายในโครงการก่อสร้าง ฝั่งไทย (โครงการเลี่ยงเมืองแม่สอด) คืบหน้าร้อยละ 99.76 และฝั่งเมียนมาคืบหน้าร้อยละ 34.36
อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวต่อไปอีกว่า การก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 1,127 ล้านบาท แบ่งเป็นอาคารด่านฝั่งไทย 586 ล้านบาท ฝั่งเมียนมา 541 ล้านบาท ซึ่งอาคารด่านพรมแดนมีพื้นที่กว้าง 380 เมตร ยาว 450 เมตร ทั้งสองฝั่ง ภายในด่านพรมแดนจะแยกอาคารผู้โดยสารและอาคารสินค้า ซึ่งอาคารผู้โดยสาร จะออกแบบให้มีความทันสมัยและยังคงรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมของแต่ละประเทศ ลักษณะอาคารผู้โดยสารจะแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่ตรวจและสำนักงานของกรมศุลกากร พื้นที่ตรวจและสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงสำนักงานกักกันโรค ชั้นที่ 2 เป็นสำนักงานของกรมทางหลวง สำนักงานความมั่นคง ในส่วนอาคารสินค้าได้ออกแบบให้มีความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้อย่างพอเพียง
อนึ่งโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 2 มีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 12 ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน ที่บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ราชอาณาจักรไทย เข้าสู่บ้านเยปู หมู่ที่ 5 เมืองเมียวดี จังหวัดเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มีจุดสิ้นสุดบรรจบถนนหมายเลข 85 สายเมียวดี - กอกะเร็ก เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียหมายเลข 1
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 2 เปิดใช้อย่างเป็นทางการ จะช่วยเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อำนวยความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าการลงทุนในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ช่วยลดปัญหาการจราจรแออัดของสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 1 และรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งจะกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงอาเซียน - โลกและการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล