นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยหลังจากนำสื่อมวลชนดูความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สาย บางปะอิน – นครราชสีมา ว่าปัจจุบันงานโยธามีความก้าวหน้าในภาพรวมร้อยละ 68 ซึ่งได้กำชับผู้รับจ้างให้เร่งดำเนินการก่อสร้างในทุกสัญญาของโครงการและคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ตามกำหนดพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2564 โดยโครงการดังกล่าวจะมีแนวเส้นทางส่วนใหญ่ขนานไปกับถนนพหลโยธินและถนนมิตรภาพ แบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่ บางปะอิน – ปากช่อง ระยะทาง 103 กิโลเมตร และ ปากช่อง – นครราชสีมา ระยะทาง 93 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 196 กิโลเมตร
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนการให้เอกชนร่วมลงทุนในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance:O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ของทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ทางเอกชนจะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง งานบำรุงรักษาของโครงการทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนลงทุนทั้งหมด รวมถึงเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง โดยเอกชนจะได้รับค่าตอบแทน (Availability Payment: AP) เป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ค่าบำรุงรักษา และค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมทั้งงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด ภายในกรอบวงเงินที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน ไม่เกิน 33,258 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวงได้ประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประกวดข้อเสนอตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2562 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการประเมินข้อเสนอและเจรจาต่อรองสัญญา ตรวจร่างสัญญาและเสนอขออนุมัติผลการคัดเลือก ตลอดจนลงนามในสัญญาร่วมเพื่อให้ได้เอกชนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดของกรมทางหลวงภายในเดือนธันวาคม 2562 โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 7 มี.ค. 62 ได้มีเอกชนซื้อเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุนฯ (RFP) โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สาย บางปะอิน – นครราชสีมาแล้ว จำนวน 10 ราย ประกอบด้วย 1. บมจ. ทางยกระดับดอนเมือง 2. บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 3. บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ 4. บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ 5.บจก. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 6. บจก. ซีวิลเอนจิเนียริ่ง 7. บมจ.ซิโน – ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 8. บจก.สี่แสงการโยธา (1979) 9. บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ และ 10. บมจ. ช.การช่าง
ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคต่างๆของประเทศ ได้อย่างสมบูรณ์มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ แก้ไขปัญหาจราจรระหว่างภาค ส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าไปยังทั่วทุกภูมิภาค เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนต่อไป