นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่เกิดสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐานบริเวณกรุงเทพและปริมณฑล ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น กรมทางหลวงจึงได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางป้องกันและบรรเทาฝุ่นละอองในงานของกรมทางหลวง โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานทั้งสำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง และหมวดทางหลวงทั่วประเทศ นำมาตรการตามประเภทงานไปใช้ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ดังนี้
งานก่อสร้างและบำรุงทาง
- กำกับดูแลพื้นที่ก่อสร้าง ให้เกิดฝุ่นละอองน้อยที่สุด พร้อมทั้งเข้มงวดมาตรการป้องกันและลดฝุ่นละออง โดยฉีดล้างน้ำทำความสะอาดผิวจราจรตลอดแนวพื้นที่ก่อสร้าง ทำความสะอาดล้อรถทุกคันที่เข้า – ออกพื้นที่ก่อสร้าง ตลอดจนให้ปิดคลุมผ้าใบทุกครั้งในการขนย้ายวัสดุในการก่อสร้าง
- ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรก่อสร้าง และรถยนต์ทั้งในส่วนของกรมทางหลวงและผู้รับจ้างให้อยู่ในสภาพดี และห้ามใช้เครื่องจักร / รถยนต์ที่เกิดเขม่าควันดำเด็ดขาด
- จัดเจ้าหน้าที่ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการจราจรบนถนนบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด
- เชิญชวนผู้รับจ้าง ให้พิจารณาใช้ไบโอดีเซล ตามความเหมาะสมของเครื่องจักรรถยนต์
งานให้บริการผู้ใช้ทางและบริหารจัดการจราจรบนสายทาง
- ร่วมมือกับตำรวจทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจจับยานพาหนะที่มีเขม่า ควันดำ
- บริหารจัดการจราจรในพื้นที่ไม่ให้เกิดการจราจรติดขัด บนทางหลวงสายหลักและ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
- บำรุงรักษาต้นไม้ริมทางหลวงให้อยู่ในสภาพดี
- ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นหากมีข้อสั่งการเกี่ยวกับการจำกัดยานพาหนะบนทางหลวง
งานสำนักงาน
- ลดการเดินทางของบุคลากร พิจารณาใช้เทคโนโลยีในการทำงานที่ช่วยลดการเดินทาง เช่น teleconference
- ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว เชิญชวนใช้การขนส่งสาธารณะ หรือ ใช้รถร่วมกัน (carpool) สำหรับการเดินทางเส้นทางเดียวกัน
อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้กรมทางหลวงยังจะดำเนินการวัดปริมาณฝุ่นละอองตามจุดต่างๆ พร้อมทั้งพิจารณาติดตั้งเครื่องปล่อยฝอยละอองน้ำ (High Pressure Water) ในจุดที่เหมาะสม เช่น บริเวณด่านเก็บเงินทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง, บนถนนที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น โดยตั่งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 ที่ ผ่านมากรมทางหลวงได้ทดสอบการทำงานของระบบปล่อยฝอยละอองน้ำ (High Pressure Water System) ที่ติดตั้งในลักษณะถาวร บริเวณหน้าด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทาง ทับช้าง 1(ทิศทางมุ่งหน้าบางพลี) และ ทับช้าง 2 (ทิศทางมุ่งหน้าบางปะอิน) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 กรมทางหลวง จากการทดสอบระบบปล่อยฝอยละอองน้ำ (High Pressure Water System) ที่ด่านฯ ทับช้าง 1 และด่านฯ ทับช้าง 2 บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 กรมทางหลวง พบว่า ฝอยละอองน้ำที่สะอาด ออกจากหัวฉีดขนาดเล็กด้วยแรงดัน 70 Bar ที่ความสูงประมาณ 5.5 เมตร มีอนุภาคขนาดเล็กและเบามากคล้ายควัน แต่จะไม่บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ และไม่ทำให้พื้นถนนเจิ่งนองเปียกแฉะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ทาง ทั้งนี้กรมทางหลวงขอความร่วมมือและรณรงค์ผู้ใช้ทางหลวงทุกท่านร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการลดฝุ่นละออง PM2.5 โดยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางระยะใกล้ ตรวจสภาพเครื่องยนต์ ให้อยู่ในสภาพดีไม่มีควันดำ ไม่จุดไฟเผาขยะหรือวัชพืชบนสองข้างทางหลวง เพราะนอกจากเป็นการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองแล้ว ยังเป็นการป้องกันอุบัติเหตุบนทางหลวงร่วมกันอีกด้วย