กรมทางหลวง
DEPARTMENT OF HIGHWAYS
ระบบทางหลวงที่สะดวกปลอดภัยเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
กรมทางหลวงพร้อมรับฤดูฝน สั่งการทุกหน่วยงานเคลียร์เส้นทางทั่วประเทศ-ช่วยเหลือประชาชนตามนโยบาย รมว.คมนาคม
ลงวันที่ 13/05/2565

กรมทางหลวงพร้อมรับฤดูฝน  สั่งการทุกหน่วยงานเคลียร์เส้นทางทั่วประเทศ-ช่วยเหลือประชาชนตามนโยบาย รมว.คมนาคม

          นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง  เปิดเผยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิดเนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนปี 2565 อย่างเป็นทางการในวันนี้ (13 พฤษภาคม 2565) และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2565 นี้ ซึ่งอาจทำให้หลายพื้นที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เกิดวาตภัย ต้นไม้ล้มทับทาง ดินโคลนถล่ม ส่งผลกระทบต่อระบบคมนาคมขนส่งและการสัญจรของประชาชนผู้ใช้เส้นทาง และเพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น  จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดประกอบด้วย สำนักงานทางหลวง ศูนย์สร้างทาง ศูนย์สร้างและบูรณะสะพาน แขวงทางหลวง และหมวดทางหลวงทั่วประเทศ ดำเนินการตามมาตรการเตรียมความพร้อม เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้กับประชาชนตามมาตรการ ดังนี้

  1. ขั้นเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย

             -  ตรวจสอบสภาพความเรียบร้อยของผิวทาง ต้องไม่มีหลุมบ่อ พร้อมสำรวจพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ สะพาน  ท่อระบบน้ำ ร่องน้ำในเขตทางให้อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งานและดำเนินการขุดลอกร่องระบายบริเวณสองข้างทาง  ทำความสะอาดช่องทางระบายน้ำ กำจัดเศษขยะวัชพืชมิให้กีดขวางทางระบบน้ำ ตัดแต่งกิ่งไม้

            - จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือและรถช่วยเหลือฉุกเฉินออกช่วยเหลือประชาชนบนทางหลวง พร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยขนย้ายสิ่งของ

            - จัดเตรียมเครื่องจักร ยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ สิ่งอำนวยความปลอดภัยป้ายจราจร หรือป้าย Knock Down  ป้ายแนะนำเส้นทาง หลักนำทาง ไฟกระพริบ ฯลฯ ให้สามารถใช้งานได้ทันที

  1. ขั้นรับเหตุขณะเกิดภัยพิบัติ

             -  ให้หน่วยงานในพื้นที่เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุดรวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น

             -  ตั้งจุดให้บริการประชาชน จัดรถ Mobile Service  ช่วยเหลือประชาชนกรณีรถเสียบนทางหลวง  ช่วยขนย้ายประชาชนและสิ่งของไปยังพื้นที่ปลอดภัย และจัดรถบรรทุกไว้บริการรับส่งประชาชนในพื้นที่ประสบภัย รวมถึงให้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือประชาชน

             -   เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนให้ผู้บริหารในพื้นที่ดำเนินแก้ไขปัญหาทันที และรายงานผู้บริหารในส่วนกลางจนกว่าเหตุการณ์จะยุติ และเมื่อเกิดเหตุทางขาด สะพานขาดหรือชำรุด ให้ขอความร่วมมือจากศูนย์สร้างทาง ศูนย์สร้างและบูรณะสะพาน เพื่อขอรับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่เครื่องจักรและสะพานเบลีย์ (สะพานเหล็กชั่วคราว) ให้เข้าดำเนินการให้เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับแขวงทางหลวงโดยทันที

.           - ให้ทุกหน่วยงานติดตามเฝ้าระวังและรายงานข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าระบบบริหารงานภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินของกรมทางหลวงอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะปกติ รวมถึงให้ติดตามการเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อย่างใกล้ชิด

             - จัดทำแผนที่ทางเลี่ยงและประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางทราบ

             -  สายด่วนกรมทางหลวง 1586 ให้บริการสอบถามเส้นทางและให้ความช่วยเหลือแนะนำเส้นทางตลอด 24 ชั่วโมง

  1. ขั้นการฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ

              - สำรวจ ซ่อมแซม และแก้ปัญหาเส้นที่ได้รับความเสียหาย และเยียวยาหลังสถานการณ์คลี่คลายในทุกมิติเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาสัญจรได้อย่างสะดวกปลอดภัย

          นอกจากนี้ยังได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกรณีเกิดภัยพิบัติให้ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักร ยานพาหนะ กรณีมีการร้องขอจากหน่วยงานอื่นๆ หรือประชาชน  พร้อมขอให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางเดินทางด้วยความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงเส้นทางที่คาดว่าจะเกิดความสุ่มเสี่ยง พร้อมขอให้ปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด และหากประชาชนต้องการสอบถามสภาพเส้นทาง สภาพการจราจร หรือต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วนกรมทางหลวง 1586  (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโม

------------------------------

 วันที่ 13 พฤษภาคม 2565

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

สำนักงานเลขานุการกรม กรมทางหลวง


'